วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำผึ้งแท้–น้ำชา แก้หัวใจอ่อนจากโลหิตจาง

ในยุคสมัยก่อนคนเป็นโรคหัวใจเต้นไม่ปกติ หรือเต้นอ่อน ที่หมอยาแผนไทยในยุคนั้นนิยมเรียกว่า โรคหัวใจอ่อนที่เกิดจากโลหิตจางกันเยอะ โดยผู้เป็นจะไม่ค่อยรู้ตัวเพราะอาการจะไม่แสดงออกแบบรุนแรง ส่วนใหญ่หากเป็นระยะแรกจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่ค่อยสะดวก หากปล่อยไว้นานๆไม่ดีแน่ อาจทำให้หัวใจวายได้ ซึ่งในยุคสมัยก่อนชาวบ้านจะนิยมให้หมอยาแผนไทยช่วยรักษา เนื่องจากอยู่ห่างไกลโรงพยาบาลหรือสุขศาลาในตัวเมือง ไม่มีพาหนะในการเดินทางด้วย ซึ่ง หมอยาแผนไทยในยุคนั้นมีวิธีรักษาคือ ให้เอาน้ำผึ้งแท้ จำนวน 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำชาที่ชงกับน้ำร้อน จะเป็นชายี่ห้ออะไรก็ได้ โดยชงไม่ต้องเข้มนัก จำนวนน้ำชา 3 ใน 4 ส่วนของแก้ว จากนั้นคนให้เข้ากันจนได้ที่แล้วดื่มทันทีวันละครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว ทำรับประทานได้เรื่อยๆ เนื่องจากน้ำผึ้งแท้มีธาตุหลายชนิด จะช่วยบำรุงหัวใจให้เต้นเป็นปกติได้ แต่ผู้ป่วย จะต้องกินไข่และนมบำรุงเสริมด้วย เพื่อช่วยให้โลหิตดีขึ้นอีกทางหนึ่ง





สูตรดังกล่าว นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในยุคสมัยก่อน เนื่องจากได้ผลดีระดับหนึ่ง ซึ่งอย่างไรก็ตาม การแพทย์สมัยใหม่ ในปัจจุบันเจริญก้าวหน้าไปไกลมาก อาการของโรคหัวใจเต้นไม่ปกติที่เกิดจากโลหิตจางสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนสูตร น้ำผึ้งแท้น้ำชาแนะนำในคอลัมน์ให้เป็นความรู้ เพื่อป้องกันไม่ให้สูญหายไปในอนาคต



ที่มา : คอลัมน์ เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ โดย นายเกษตร นสพ.ไทยรัฐ



โรค หัวใจอ่อน มีจริหรือ


ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของคนไทยรองจากอุบัติเหตุ ดังนั้น เมื่อพูดถึงโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ คนทั่วไปจะมีความคิดว่าไม่อยากให้โรคนี้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด เพราะคนทุกคนต่างก็รักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น



หัวใจนับเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของร่างการมนุษย์ มีหน้าที่สูบฉีดเลือดดีที่ได้รับการฟอกที่ปอดและมีปริมาณออกซิเจนสูงส่งไป เลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายและสมอง หากสมองขาดเลือดก็จะไม่สามารถสั่งงานหรือควบคุมการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ได้ ขณะเดียวกันหัวใจก็มีหน้าที่รับเลือดจากอวัยวะทุกส่วนกลับคืนมา ซึ่งเป็นเลือดที่มีของเสียและคาร์บอนไดออกไซด์ อันเกิดจากการทำงานของร่างกายส่งไปทำลายทิ้งที่ไต ตับและปอด เลือดที่ผ่านการกำจัดของเสียแล้วก็จะไหลหลับเข้าหัวใจซีกซ้ายด้านบนก่อนที่ จะถูกสูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ อีกต่อไป เป็นเช่นนี้ตลอดชั่วชีวิตของเรา หัวใจจึงมีความหมายยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชีวิต


โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจวาย โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคเหล่านี้มีจริง และเกิดจากพยาธิสภาพในหัวใจ จำเป็นต้องรักษา มีอยู่อีกโรคหนึ่งที่เราท่านได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอๆ คือ โรคหัวใจอ่อน จะเรียกว่าเป็นโรคยอดนิยมก็ว่าได้ เพราะมีคนที่คิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคนี้กันมากมาย ต่างก็ตระเวนหาหมอเพื่อรักษาโรคนี้กันไปทั่ว คนที่ถูกบอกหรือคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้จะรู้สึกกังวล กลัวรักษาไม่หาย บางรายไม่ยอมทำงาน เอาแต่นอนพักผ่อนอย่างเดียว เนื่องจากกลัวว่าหัวใจจะวายตาย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ตายสักที มีแต่ความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจเท่านั้น


แล้ว“โรคหัวใจอ่อนที่ว่านี้ คืออะไรกันแน่?


เมื่อถามผู้ที่คิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจอ่อนว่ามีอาการอย่างไรบ้าง ก็จะได้รับคำตอบจากเขาเหล่านั้นว่า มักจะมีอาการใจหวิว ใจสั่น ใจเต้นเร็ว ตกใจง่าย เหงื่อออกมาก มือเย็น เท้าเย็น มือชา เท้าชา หายใจไม่อิ่ม ถอนหายใจ บางรายมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เสียวจี๊ดในหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รู้สึกหงุดหงิด โมโหง่าย ความอดทนต่ำ สะเทือนใจง่าย บางรายจะมีอาการนอนไม่ค่อยหลับร่วมด้วยก็ได้ เมื่อทำการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นอาจจะมีชีพจรหรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติเท่านั้น ซึ่งเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของหัวใจและอวัยวะภายใน อื่นๆ สั่งงานมากกว่าปกติ ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด อย่างนี้แหละครับที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรคเครียด หรือโรคกังวล บางคนเรียกชื่อโรคนี้ให้ยุ่งขึ้นไปอีก เช่นเรียกว่า โรคประสาทหัวใจ ก็ขอให้เข้าใจเสียใหม่นะครับว่าแท้จริงก็คือ โรคเครียด นั่นเอง


การเรียกชื่อ โรคหัวใจอ่อนน่าจะไม่ถูกต้องกับความหมายของโรค จริง ๆ แล้วควรจะเรียกว่า โรคจิตใจอ่อน เสียมากกว่า คนจะได้ไม่เข้าใจผิดและเกิดความกลัวอีกต่อไป ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนในภาคอีสานป่วยเพราะความเข้าใจผิด หรือถูกทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ในที่สุดก็ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่หากินอยู่ความไม่รู้ของชาวบ้านนั่นเอง


อยากจะขอเรียนย้ำว่า โรคนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของหัวใจแต่อย่างใดทั้งสิ้น สาเหตุที่แท้จริง พบว่าเกิดจากความขัดแย้งในจิตใจอย่างเรื้อรัง ความคับข้องใจ ความไม่สมหวังในชีวิต ความเครียด ความกังวล อันเกิดจากปัญหาในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว ความกลัวและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้จะทำให้อาการของโรคเป็นรุนแรงขึ้น ท่านคงจะมีคำถามนะครับว่า เมื่อมีอาการอย่างว่านี้แล้วควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?


มีข้อแนะนำดังนี้


1. ตั้งสติให้ดี และคิดเสียใหม่ว่าท่านไม่ได้เป็นโรคหัวใจและจะไม่ตายด้วยโรคนี้ สังเกตง่าย ๆ คือ ส่วนใหญ่เวลาจิตใจสบายดีอาการของโรคนี้จะไม่ค่อยเกิดขึ้น และอาการจะลดลงเมื่อจิตใจสงบลงหรือรับประทานยาคลายเครียด


2. ตั้งใจทำกิจวัตรประจำวันให้เหมือนเดิมมากที่สุด เมื่อรู้สึกเหนื่อยก็ให้พักสักครู่ พอหายเหนื่อยก็ให้ทำงานต่อ


3. อย่าทำตัวให้ว่างมากจนเกินไป เพราะถ้ามีเวลาว่างมากก็จะยิ่งคิดฟุ้งซ่าน คิดว่าตัวเองเป็นโรคนั้นโรคนี้ คิดว่าถ้าตัวเองตายแล้วจะไม่มีใครเลี้ยงดูลูก ความคิดเหล่านี้จะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้นไปอีก อาการของโรคก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว


4. พิจารณาตนเองตามสภาพความเป็นจริง ว่าควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพราะคนเรามักจะคุ้นเคยกับการมองหาข้อผิดพลาดของผู้อื่นมากกว่าพิจารณาตนเอง ทำให้ข้อบกพร่องไม่ได้รับการแก้ไข


5. ค้นหาข้อดีของตนเอง แล้วนำข้อดีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ท่านเห็นถึงคุณค่าของตนเอง รู้สึกภูมิใจและมีกำลังใจในการแก้ไขปัญหาต่อไป


6. เลือกและทำงานอดิเรกที่ชอบ เพื่อหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายอันเกิดจากความซ้ำซากจำเจของกิจวัตรประจำวัน การได้กระทำในสิ่งที่ชอบถือเป็นการพักผ่อนวิธีหนึ่ง


7. พูดคุย ปรึกษากับคนที่ไว้ใจได้ และพยายามมองโลกในแง่ดี เพราะจะทำให้ท่านรู้สึกมั่นคงทางใจ และมองโลกอย่างมีความหวัง อย่าคุยกับคนที่ชอบทักว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้เพราะจะยิ่งทำให้ท่านเกิดความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นไปอีก


8. ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่จำเป็นต้องหักโหม เพราะการออกกำลังกายจะช่วยคลายความวิตกกังวล และทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ท่านจะรู้สึกปลอดโปร่งสบายตัว สุขภาพโดยรวมก็จะดีขึ้นด้วย


9. อย่าสร้างปัญหาเพิ่มเติม ปัญหาที่มีอยู่ก่อนแล้วก็ควรจะจัดลำดับความสำคัญว่า ปัญหาใดควรจะแก้ไขก่อนหลัง จับจุดให้ถูกและอย่างสร้างปัญหาให้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก


10. นำหลักธรรมะมาประยุกต์ใช้อย่างถูกวิธี ไม่งมงายในสิ่งที่ไม่ใช่แก่นสารของพุทธศาสนา น่าจะเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีอย่างหนึ่ง


11. ถ้ายังไม่ดีขึ้น ก็ควรจะไปพบจิตแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ท่านได้เข้าใจตนเอง วิเคราะห์และแก้ไขปัญหา หากจำเป็นก็จะให้รับประทานยาคลายกังวล ซึ่งไม่ใช่ยาบำรุงหัวใจตามที่เข้าใจกัน


ก็ลองนำไปปฏิบัติดูนะครับ ในระยะแรกท่านอาจจะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทนบ้าง แต่ถ้าท่านมีความตั้งใจจริง เชื่อว่าท่านจะสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งยาอีกต่อไป


จากบทความโดย: รศ.นพ.สุรพล วีระศิริ
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น